วันจันทร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2560
ประสูติ
ประมาณ ๖๐๐ ปีเศษ ก่อนคริสต์ศักราชประเทศอินเดียหรือที่เรียกกันว่า ชมพูทวีปมีแคว้น หรือรัฐใหญ่ๆ รวมอยู่ 10 แคว้นด้วยกัน ในจำนวนนี้ ๘ แคว้น ปกครองแบบราชาธิปไตย คือมี พระเจ้าแผ่นดินปกครอง เช่น มคธ (ราชคฤห์ - เมืองหลวง), โกศล (สาวัตถี - เมืองหลวง), วังสะ (โกสัมพี - เมืองหลวง) เป็นต้น ที่เหลืออีก ๘ รัฐ เช่น วัชชี (เวสาลี - เมืองหลวง) มัลละ (ปาวา และกุสินารา - เมืองหลวง) เป็นต้น ปกครองแบบสามัคคีธรรม หรือคณะราชย์ ซึ่งก็คือ ระบบประชาธิปไตยนั่นเอง
มีรัฐเล็กๆ ที่นับว่าเจริญรุ่งเรืองมากในสมัยนั้นรัฐหนึ่ง อยู่ทางเหนือสุดของอินเดียที่เชิงเขา หิมพานต์ (ภูเขาหิมาลัย) ชื่อ กรุงกบิลพัสดุ์ อยู่ในความอารักขาของแคว้นโกศล มีกษัตริย์ราชวงศ์ศากยะปกครอง พระราชาทรงพระนามว่า พระเจ้าสุทโธทนะ พระอรรคมเหสีพระนามว่าพระนางศิริมหามายาเทวี
ประสูติ
คืนหนึ่งพระนางทรงสุบินนิมิต (ฝัน) ว่า มีท้าวมหาพรหมทั้งสี่ มายกแท่นบรรทม ของพระนาง ไปวางลงไว ภายใต้ต้นสาละใหญ่ ณ ป่าหิมพานต์ (ต้นสาละเป็นต้นไม้สกุลเดียว กับต้นรังของเรา) เหล่าเทพธิดาพากันนำพระนาง ไปสรงสนานในสระอโนดาต ซึ่งอยู่ข้างๆ ต้นสาละนั้น เพื่อชำระล้างมลทิน ในขณะนั้น มีลูกช้างเผือกเชือกหนึ่ง ถือดอกบัวขาว ลงมาจากภูเขา ร้องเสียงลั่น เข้ามาทำประทักษิณสามรอบ แล้วเข้าสู่ท้องทางเบื้องขวาของพระนาง นับแต่นั้นมา พระนางก็เริ่ม ทรงครรภ์ (คนอินเดียมีวัฒนธรรมสูง และส่วนมากเคร่งศาสนาธรรมเนียมของเขา ไม่ว่า จะเป็นชาวพุทธ หรือพวกนับถือศาสนาฮินดู เมื่อย่างเข้าไปในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งใด เขาจะทำความเคารพ สถานที่นั้นๆ ด้วยการทำประทักษิณเดินเวียนสามรอบเสมอ โดยเดินเวียนขวา)
เมื่อครรภ์พระนางแก่จวนครบทศมาส (๑๐ เดือน) ธรรมเนียมของคนอินเดียสมัยนั้น (ถึงแม้ขณะนี้ ยังปฏิบัติกันอยู่ แต่โดยมากเฉพาะลูกคนแรก) ฝ่ายหญิงจะเดินทางไปอยู่คลอดบุตร ที่บ้านพ่อแม่ของตน พระนางมายาเทวี จึงเสด็จกลับยังพระราชวังเดิมของกษัตริย์โกลิยะ (พระราชบิดาของพระนาง) ที่เมืองเทวทหะนคร ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกรุงกบิลพัสดุ์นัก
ตามพุทธประวัติกล่าวว่าลุมพินีอยู่กึ่งทางระหว่างกบิลพัสดุ์กับเทวะทหะนคร (แต่เวลานี้ ตัวเมืองทั้งสอง ไม่มีซากเหลืออยู่เลย) เมื่อขบวนยาตราไปได้ประมาณ ๒๐ กิโลเมตร จากกบิลพัสดุ์ถึงป่าลุมพินี พระนางเจ้าประชวรพระครรภ์หนักจะประสูติ จึงให้หยุดขบวนประทับ ใต้ต้นสาละ ทรงยืนเหนี่ยวกิ่งสาละ ณ วันวิสาขปุรณมี ดิถีเพ็ญเดือน ๖ แห่งปีก่อนพุทธศก ๘๐ เวลาสายใกล้เที่ยง เจ้าชายสิทธัตถะราชกุมาร ก็ได้ประสูติ จากครรภ์พระมารดา ทรงเพียบพร้อมด้วย มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการครบบริบูรณ์ อันเป็นลักษณะแห่ง องค์พุทธางกูรโดยเฉพาะ
และเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งที่พระองค์ได้เสร็จออกจากพระครรภ์แล้ว ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ ก้าวพระบาทออกไปได้ ๗ ก้าว พร้อมกับกล่าววาจา ประกาศความสูงสุดว่า
"เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก เราเป็นผู้เจริญที่สุดแห่งโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ภพใหม่ของเราจะไม่มีอีกแล้ว" ดังนี้
เป็นบุพนิมิตหมายว่า พระองค์จะประกาศรัศมีแห่งธรรมของพระองค์ไปใน เจ็ดชนบทน้อยใหญ่ ของอินเดียสมัยนั้น พระองค์ประสูติบริสุทธิ์ ไม่เปรอะเปื้อนพระองค์ ด้วยครรภ์มลทิน มีหมู่เทพยดามาคอยรับ ก่อนที่พระวรกายจะถึงแผ่นดิน มีธารน้ำร้อนน้ำเย็น พร้อมที่จะสรงสนาน พระวรกาย
พระองค์ประสูติได้เจ็ดวัน พระนางสิริมหามายาเทวีก็เสด็จทิวงคต (พุทธองค์ทรงตรัสภายหลัง กับพระอานนท์ว่า "ถูกแล้ว อานนท์ จริงทีเดียว มารดาแห่งโพธิสัตว์มีชนมายุน้อย เมื่อประสูติพระโพธิสัตว์แล้ว ได้เจ็ดวัน ย่อมสวรรคต ย่อมเข้าถึงเทวนิกายชั้นดุสิต") พระนางสิริมหามายาเสด็จทิวงคตแล้ว พระเจ้าสุทโธทนะ ได้มอบการเลี้ยงดู พระราชกุมารแก่พระนางปชาบดีโคตมี (น้องสาวพระนางมหามายาเทวี) และก็ทรงเป็นพระมเหสี ของพระเจ้าสุทโธนะด้วย พระนางทรงมีพระเมตตารักใคร่พระกุมารยิ่งกว่าพระโอรสของพระนางเอง ทั้งๆ ที่ต่อมา จะทรงมีพระโอรสและธิดาถึงสองพระองค์ คือ นันทกุมาร (ซึ่งมีรูปลักษณะคล้ายคลึงพระบรมศาสดาอย่างยิ่ง ในกาลต่อมา) และรูปนันทากุมารี
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น